วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไตรลักษณ์


พระไตรลักษณ์
              สังขารทั้งหลายทั้งปวง(สังขาร - สิ่งปรุงแต่งหรือถูกปรุงแต่งขึ้น จึงมิไดด้หมายถึงแต่สังขารร่างกายเท่านั้น) ล้วนเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ) อันเป็นเช่นนี้เอง กล่าวคือ ล้วนเกิดแต่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆ มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน หรือปฏิจจสมุปบันธรรม กล่าวคือ มีเหตุต่างๆ มาประชุมหรือปรุงแต่งกันขึ้น ชั่วขณะหรือระยะหนึ่งๆ  เพราะเกิดแต่เหตุที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน  จึงต้องอาศัยเหตุต่างๆหลายเหตุ มาเป็นปัจจัยหรือมาประชุมรวมกันแบบเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน  จึงล้วนเพียงแลดูประหนึ่งว่าเป็น สิ่งๆเดียว, แต่ในความเป็นจริงระดับปรมัตถ์นั้น มิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง เพียงแต่เกิดจากการประชุมเป็นปัจจัยกันของเหตุต่างๆ ชั่วขณะระยะเวลาหนึ่งๆเท่านั้น  จากความแตกต่างกันโดยธรรมหรือธรรมชาตินี้นี่เอง ดังนั้นสังขารทั้งหลายทั้งปวงจึงมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเองซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ มีแรงบีบคั้น แรงยึด แรงผลัก ฯ. จากความแตกต่างกันโดยธรรมชาติ กล่าวคือ จึงมีแรงกริยาและแรงปฏิกริยาต่างๆนาๆ แอบแฝงอยู่ในสังขารนั้นๆ  อันก่อให้เกิดสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่  จึงเป็นไปดั่งนั้น  จนเรียกกันว่าสามัญลักษณะ หรือลักษณะโดยทั่วไปของสังขารทั้งปวง  อันเป็นไปดังนี้



  จึงล้วนเป็น "อนิจจัง" มีความไม่เที่ยง  มีอันต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอาการธรรมดา, ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาได้ตลอดไป,  เพียงบางครั้งแลดูประหนึ่งว่า สามารถควบคุมบังคับได้ในบางเหตุปัจจัย จึงก่อให้เกิดมายาจิต เกิดความหลงผิด ไปหลงคิดหลงยึดว่าอยู่ภายใต้อํานาจของตัวของตน  สามารถควบคุมบังคับได้  แต่แท้จริงแล้วไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างจริงแท้แน่นอน  ต้องมีอันต้องแปรปรวนไปตามสภาวธรรมหรือธรรมชาติเป็นที่สุด อย่างจริงแท้แน่นอน จึงเป็นทุกข์
             จึงล้วนเป็น "ทุกขัง" มีความคงทนอยู่ไม่ได้ จึงเป็นทุกข์เมื่อไปอยากด้วยตัณหา หรือไปยึดมั่นด้วยอุปาทาน  ก็เนื่องเพราะเมื่อมีการแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดย่อมแปรปรวนจนถึงภาวะสุดท้ายของการแปรปรวน คือ การดับไปเป็นที่สุด  ดังนั้นสังขารทั้งหลายทั้งปวงจึงมีอาการเสื่อมไปเป็นอาการธรรมดา และถึงภาวะต้องดับไปเป็นที่สุด  จึงเป็นทุกข์เพราะย่อมไม่สมดังหวังเป็นที่สุดอีกนั่นเอง
             เพราะล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงล้วนเป็น "อนัตตา" ไม่มีตัวไม่มีตน ที่เป็นแก่น  เป็นแกน  เป็นสาระอย่างแท้จริงได้ตลอดไป กล่าวคือ ตัวตนทั้งหลายนั้น แม้แต่ตัวตนของตน  ก็ไม่ใช่ของตัวของตนอย่างแท้จริง เป็นเพียงสมมติสัจจะ  เพราะล้วนแต่เกิดมาจากเหตุปัจจัยต่างๆหลากหลาย มาประชุมปรุงแต่งเป็นปัจจัยแก่กันและกัน และเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันชั่วขณะหรือในระยะเวลาหนึ่งๆ  ดุจดั่งเงา(ขยายความ),   ดังนั้นเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆเหล่าใดเหล่านั้น ที่มาประชุมกันตัวใดตัวหนึ่งมีอันต้องแปรปรวน,เสื่อม หรือดับไป  ผลหรือผลลัพธ์ที่เกิดแต่เหตุปัจจัยเหล่านั้น อันคือ สังขารทั้งปวงแม้
ตัวตน,ของตนทั้งหลายทั้งปวงที่ไปหลงยึดติด ยึดมั่น ถือมั่นพึงพอใจทั้งในสุขและในทุกข์  ก็ต้องแปรปรวน เสื่อม และดับไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นเป็นที่สุด  จึงมีสภาพที่ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริง  จึงต่างล้วนแต่ไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา  ล้วนแต่เป็นไปตามธรรมคือเหตุปัจจัยล้วนสิ้น

              ด้วยเหตุเพราะอนิจจังความไม่เที่ยง, ทุกขังความคงทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมและดับไป, และอนัตตาไม่ใช่ตัวใช่ตน หรือไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง,  เหตุเพราะย่อมควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาอย่างแท้จริงแน่นอน  จึงจักเป็นทุกข์ถ้าไปอยากหรือไม่อยากด้วยตัณหา  หรือไปยึดมั่นตามความพึงพอใจของตนด้วยกิเลส(อุปาทาน)  เพราะย่อมไม่สมปรารถนาหรือผิดหวังเป็นที่สุดเมื่อเกิดอาการแปรปรวนหรือดับไปนั่นเอง  แม้ในสุข ทั้งในทุกข์ก็ตามที กล่าวคือ ต้องเป็นทุกข์ในที่สุดอีกนั่นเอง
(ควบคุมบังคับไม่ได้ หมายถึง การควบคุมบังคับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เที่ยงแท้ไม่แน่นอน)
สังขารทั้งหลายทั้งปวง จึงล้วนมีสภาวะดังนี้
ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย  ตั้งอยู่อย่างไม่เที่ยง แปรปรวนไปมา  จนดับไปเป็นที่สุด  ล้วนเป็นอนัตตา จึงล้วนไม่ใช่เราหรือของเรา อย่างแท้จริง          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น